พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (เปอร์เซีย : ??????? ??? ?????, พระราชสมภพ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1919 ณ เตหะราน ประเทศอิหร่าน – สวรรคต 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 ณ ไคโร ประเทศอียิปต์) หรือ จักรพรรดิชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระองค์ทรงเป็นชาห์แห่งอิหร่านซึ่งเป็นชาห์องค์สุดท้ายที่ปกครองอิหร่าน โดยพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวีซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองประเทศอิหร่านก่อนการปฏิวัติอิสลาม
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ได้รับการขนานพระนามเป็น ชาฮันชาห์ (Shahanshah ราชันย์แห่งราชา เทียบเท่าตำแหน่งจักรพรรดิ), อัรยาเมหร์ (Aryamehr แสงแห่งอารยัน) และ บอซอร์ก อาร์เตสตาราน (Bozorg Artesht?r?n จอมทัพ, เปอร์เซีย:???? ?????????)
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1919 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวี กับสมเด็จพระราชินีตาจ อัล-โมลูก ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าคนที่สองของพระชนก โดยพระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระมารดาอีกสามพระองค์ ได้แก่ พระเชษฐภคินีคือเจ้าหญิงชามส์ ปาห์ลาวี พระขนิษฐาฝาแฝดของพระองค์คือเจ้าหญิงอัชราฟ ปาห์ลาวี และมีพระอนุชาคือเจ้าชายอาลี เรซา ปาห์ลาวีที่ 1
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระเชษฐภคิณีต่างพระมารดา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงฮัมดัมสุลตาเนห์ ปาห์ลาวี อนุชาและขนิษฐาต่างมารดาอีก 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายโฆลาม ปาห์ลาวี, เจ้าชายอับดุล เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าชายอะห์มัด เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าชายมะห์มุด เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าหญิงฟาเตเมห์ ปาห์ลาวี และเจ้าชายฮามิด เรซา ปาห์ลาวี
พระองค์ถูกประกาศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งอิหร่านอย่างเป็นทางการ ขณะมีพระชันษาเพียง 6 ปี ประกอบกับช่วงเวลานั้น พระองค์ได้ทรงศึกษากับพระราชบิดาอย่างเข้มงวด จนในปี ค.ศ. 1931 พระองค์ได้ถูกส่งไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่โรงเรียนเลอโรซี (Le Rosey) ซึ่งโรงเรียนชายล้วน พระองค์เป็นเด็กนักเรียนที่ดี แต่มีพระสหายไม่มาก ด้วยความที่พระองค์เป็นเจ้าชาย พระองค์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปยังเขตสนามของโรงเรียน หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเตหะรานในปี ค.ศ. 1936 พระองค์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนวิชาการทหารกรุงเตหะราน จนสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1938 ทำให้พระองค์มีพัฒนาการและรักกีฬามากขึ้น หลังจากสำเร็จการศึกษา พระองค์ก็อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ในปี ค.ศ. 1939
หลังจากความระส่ำระสายของราชวงศ์กอญัร เปอร์เซียได้ตกอยู่ภายใต้ของมหาอำนาจต่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียและอังกฤษ ตั้งแต่ในรัชสมัยของฟัฏอาลี ชาห์ ชาห์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์กอญัร ได้ทำสงครามกับรัสเซียถึง 2 ครั้ง และต้องเสียดินแดนแถบเทือกเขาคอเคซัสทั้งหมด แม้แต่ประเทศอังกฤษมีผลประโยชน์จำนวนมากในเปอร์เซียอย่างการขุดเจาะน้ำมันที่ขุดพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 - 1918) เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเปอร์เซีย เนื่องจากตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย, อังกฤษ, ออตโตมัน, เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านที่กว้างขวางของประชาชนชาวเปอร์เซีย เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของประเทศ
ท่ามกลางความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 เรซา ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซคได้นำกองทัพบุกเข้าเมืองหลวงได้ยึดอำนาจและทำการรัฐประหาร หลังการรัฐประหารพระเจ้าอะหมัด ชาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กอญัรได้แต่งตั้งนายตะบาตะบาอี เป็นนายกรัฐมนตรี และเรซา ข่าน เป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม
ในปี ค.ศ. 1923 พระเจ้าอะหมัด ชาห์ได้เสด็จไปประทับในยุโรปและไม่ได้เสด็จนิวัติมายังอิหร่านเลยเรซา ข่าน อดีตรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ได้ยึดอำนาจจากราชวงศ์กอญัรและประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1925 และได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากเปอร์เซียเป็นอิหร่านอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1934
เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ประทุขึ้น กองทัพพันธมิตรจึงได้ตัดสินใจบุกอิหร่าน ซึ่งขณะนั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับเยอรมนี โดยกองทัพอังกฤษได้บุกยึดภาคใต้ของอิหร่าน และกองทัพรัสเซียได้เข้ายึดทางตอนเหนือของอิหร่าน ประเทศอิหร่านจึงถูกปกครองโดยกองทัพสัมพันธมิตร กษัตริย์เรซาจึงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติ เพื่อให้พระโอรสองค์ใหญ่คือ โมฮัมหมัด เรซา ข่านขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ประเทศอิหร่านหลังจากนั้นจึงมีความสัมพันธ์อันดีประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ในปี ค.ศ. 1942 อิหร่านได้สัญญาไตรมิตรกับอังกฤษและรัสเซีย โดย 2 ประเทศรับรองร่วมกันในการเคารพบูรณภาพในดินแดน อธิปไตย และเอกราชทางการเมืองของอิหร่าน ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังของตนออกจากอิหร่านเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 แต่กองทหารโซเวียตยังคงอยู่ อิหร่านจึงได้ร้องเรียนต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โซเวียตจึงยอมถอนทหารออกไปในเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน
ในปี ค.ศ. 1951 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอิหร่านกำลังตื่นตัวเรื่องชาตินิยม ในพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายมูซัดเดกได้ดำเนินการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ซึ่งเป็นของอังกฤษเป็นของรัฐ ทำให้ต่างชาติมีมาตรการตอบโต้บอยคอตน้ำมันอิหร่าน ในวันที่ 22 ตุลาคมปีเดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วน และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 ชาห์และราชินีได้เสด็จออกนอกประเทศ 3 วันหลังจากนั้นนายพลซาเฮดีประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าควบคุมอำนาจมูซัดเดก และคณะรัฐบาลของเขาถูกจับกุม ชาห์เสด็จกลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา พระเจ้าชาห์ได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ในปี ค.ศ. 1963 ชาห์ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกโครงการเหล่านี้ว่า "การปฏิวัติขาว" เพราะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ได้รับแนวคิดมาจากรัฐบาลอเมริกายุคจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งต้องการให้รัฐบาลอิหร่านมีฐานอำนาจที่กว้างขึ้น มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมมากขึ้น และมีคอรัปชั่นน้อยกว่ายุคปี 1950 ที่ผ่านมา นโยบายนี้ใช้วิธีสร้างประชานิยมโดยปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก โดยให้ ดร.ฮัสซัน อาร์ซันจานี (Dr. Hassan Arsanjani) และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเป็นผู้เริ่มต้น แต่พอทำไปแล้ว ทั้งสองคนได้รับความนิยมสูงมาก ชาห์จึงทรงปลด ดร. อาร์ซานจานิ ออกจากตำแหน่ง และทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง ชาห์ได้ทรงปรับโครงการปฏิรูปที่ดินที่ริเริ่มโดย ดร. อาร์ซานจานิ ใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชานิยมในพระองค์เองรวมทั้งรัฐบาลของพระองค์ การปรับใหม่นี้มีโครงการที่เสนอรวม 6 โปรแกรมด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าการปฏิวัติขาว ได้แก่
การทำประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นชอบในโครงการ 6 ข้อนี้ ได้รับการบอยคอตจากกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) เพราะต้องการให้การตัดสินใจในแผนการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบสูงต่อชาติ ให้เป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ความขัดแย้งเรื่องนี้รุนแรงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1963 หลังปราศรัยโจมตีรัฐบาล ท่านโคมัยนีก็ถูกจับไปขังคุกที่กรุงเตหะราน ผลของการจับโคมัยนีทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก และพากันออกมาเดินขบวนเต็มไปหมดในถนนทุกสาย เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยอายะตุลลอฮ์โคมัยนี ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดหักมุมของประวัติศาสตร์อิหร่านที่สำคัญและเป็นรู้จักกันไปทั่วโลกว่า “เหตุการณ์ลุกฮือ 15 กอร์ดัด 1342" (15 Khordad 1342 uprising) ซึ่งเป็นวันเดือนปีอิสลาม หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับลงข่าวว่า ทหารของชาห์ สาดกระสุนเข้าสังหารผู้ประท้วงคราวนั้น ทำให้คนเสียชีวิตถึง 15,000 คน แรงกดดันจากประชาชนทำให้โคมัยนีได้รับการปล่อยตัว แต่ท่านก็ยังไม่ยอมเลิกต่อต้านนโยบายของชาห์ จนทำให้ถูกทหารจับตัวอีกครั้ง รัฐบาลตัดสินใจเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1964 โดยให้ไปอยู่ตุรกี และต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเป็นเวลาถึง 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคมัยนีจางหายไป
แต่การถูกเนรเทศไปอยู่อิรักครั้งนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนลืมบุรุษที่มีนามว่า อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีได้เลย เขายังติดต่อกับนักศึกษาประชาชนอยู่ตลอด และมีการให้ความคิดเห็นต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง การเมืองในอิหร่านเองก็ยังไม่นิ่ง นักศึกษาประชาชนยังชุมนุมระลึกถึงเหตุการณ์ 15 กอร์ดัด 1342 ทุกปี จนในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1978 หนังสือพิมพ์อิตติลาอัต (Ittila’at) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาล ประณามโคมัยนีว่า เป็นผู้ทรยศต่อชาติ เรื่องนี้ทำให้วันต่อมานักศึกษาและประชาชนในเมืองกุม (Qom) ซึ่งเป็นเมืองที่โคมัยนีเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง การปราบปรามการประท้วงนี้ทำให้สูญเสียชีวิตมากมายอีกครั้ง กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่ชาห์และราชวงศ์ปาห์ลาวีออกจากราชบัลลังก์ และให้สถาปนารัฐบาลอิสลามขึ้นแทน
แม้ว่าโครงการของชาห์จะได้รับการยอมรับในระยะแรก ซึ่งทำให้อิหร่านเจริญขึ้น แต่ก็ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และลุกฮือต่อต้านชาห์ เนื่องจากผลจากการปฏิวัติขาว คือ คนในราชวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดได้รับที่ดินมหาศาล การมาของ บาร์ ไนต์คลับ หนังสือโป๊หลังไหลเข้ามา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายศาสนาไม่พอใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศกลับตกอยู่ในตระกูลคนรวยเพียงไม่กี่ตระกูล รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ของชาห์กลับมีธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บรรดาบริษัทต่างชาติต่างก็เชื้อเชิญพระราชวงศ์และข้าราชบริพารชั้นสูงที่มีอำนาจการเมืองและการทหารเข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทของตนด้วย ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่กลับมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากไร้การศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดแคลนยารักษาโรค รวมไปถึงนโยบายของชาห์ที่ทรงสนับสนุนชาติอิสราเอลด้วย
ด้วยเหตุที่ประชาชนต่อต้านนโนบายของพระองค์ ชาห์จึงตั้งตำรวจลับ "ซาวัค" โดยทำหน้าที่คล้ายตำรวจเกสตาโปของเยอรมนี คอยแทรกซึมในวงการต่างๆ เพื่อจับกุมฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ซาวัคขึ้นชื่อในการจับกุม และทรมานอย่างทารุณ เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นการเดินขบวนประท้วงที่เกิดในเวลาต่อมาได้
ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน รัฐบาลได้ออกข่าวว่าพวกศาสนานิยมหัวรุนแรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทว่าเมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐบาล และเกิดการประท้วงตามเมืองต่างๆ ส่วนคู่ปรับของชาห์คืออยาตุลเลาะห์ โคมัยนี แม้จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้ออกไปนอกประเทศ โคมัยนีจึงได้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส แต่โคมัยนีก็ใช้การอัดเสียงใส่เทปคาสเซตได้ทำการอัดซ้ำและทำการเผยแพร่แก่นักศึกษาประชาชน และลุกลามถึงนักศึกษาอิหร่านในต่างประเทศด้วย
หลังโศกอนาฏกรรมที่เมืองอะบาดาน ประชาชนในเตหะรานได้รวมกันประท้วงชาห์ เผาธงชาติ ถือป้ายข้อความ "แยงกี้ โกโฮม" "ชาห์ต้องลาออก" และ "โคมัยนีต้องปกครองอิหร่าน" มีสตรีแต่งกายด้วยชุดดำสวมคลุมศีรษะจำนวนมาเข้าร่วมขบวนด้วย ขบวนได้ปะทะกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่าตามหัวเมืองอื่น กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างเข้าร่วมกันประท้วง โคมัยนีเองแม้จะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ได้เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกหันมาสนใจการต่อสู้ของประชาชนชาวอิหร่าน โดยได้กล่าวในระหว่างฤดูกาลประกอบพิธีฮัจญ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า
ชาห์ได้ยกทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่ประชากรพึงมีพึงได้ให้แก่ชาวต่างชาติจนหมดสิ้น ชาห์ยกน้ำมันให้อเมริกา ยกก๊าซธรรมชาติให้โซเวียต ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่า และน้ำมันส่วนหนึ่งให้อังกฤษ โดยปล่อยให้ประชาชนอยู่ในความล้าหลัง
การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน วันนั้นประชาชนนับล้านได้ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูรูปโคมัยนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องรัฐอิสลาม
การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกที่เมืองมาชาดมีการลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน ตลอดจนกิจการต่างๆของชาวตะวันตก ทหารได้สกัดกั้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนรัฐบาลอเมริกา และยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากอิหร่าน ความตึงเครียดที่กดดันทำให้ชาห์ทำตามคำแนะนำของอเมริกา โดยเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979 โดยที่รัฐบาลของนายชาห์ปูร์ บัคเตียร์ ได้ออกประกาศว่า พระองค์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด และแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โคมัยนีพร้อมผู้ช่วยราว 500 คน และนักหนังสือพิมพ์อีก 150 คน ได้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินฝรั่งเศสกลับสู่อิหร่าน โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น แม้ระยะแรกกองทัพบกประกาศว่าพร้อมหลั่งเลือดเพื่อค้ำบัลลังก์ชาห์ หรือหนุนรัฐบาลนายบัคเตียร์ ภายหลังกองทัพบกได้วางตัวเป็นกลาง ประชาชนฝ่ายโคมัยนีจึงได้เข้าควบคุมเตหะรานไว้ได้โดยบุกยึดที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม ตึกรัฐสภา และสถานีตำรวจไว้ได้หมด
ต่อมารัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เรียกว่า ฟากิฮ์ หรือ รอฮ์บัรร์ ถือเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ทรงอภิเษกทั้งหมด 3 ครั้ง มีพระโอรส-ธิดา 5 พระองค์ โดยเป็นพระโอรส 2 พระองค์ พระธิดา 3 พระองค์ ได้แก่
เจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ ประสูติเมื่อ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1921 พระราชธิดาในพระเจ้าฟูอัดที่ 1 แห่งอียิปต์ กับสมเด็จพระราชินีนาซลีแห่งอียิปต์ และพระราชขนิษฐาในพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ ชาห์ได้อภิเษกกับเจ้าหญิงเฟาซียะห์เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1939 ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และอภิเษกสมรสอีกครั้งที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน สองปีต่อมามกุฎราชกุมารแห่งอิหร่านก็เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแห่งอิหร่านต่อจากพระราชบิดา เจ้าหญิงเฟาซียะห์จึงดำรงพระอิสริยยศเป็นราชินีแห่งอิหร่าน
พระราชินีเฟาซียะห์ทรงเป็นนางแบบให้เซซิล บีตัน ถ่ายพระฉายาลักษณ์เพื่อตีพิมพ์ลงในนิตยสารไลฟ์ (Life) โดยนายเซซิล บีตันได้กล่าวชื่นชมพระราชินีองค์นี้ว่าทรงเป็น "เทพธิดาวีนัสแห่งเอเชีย" ทั้งยังเสริมว่า "มีพระพักตร์รูปหัวใจคมซีดเผือดผิดปกติ แต่มีดวงพระเนตรสีฟ้าอันเฉียบคม" และด้วยความที่เป็นสตรีที่ทรงพระสิริโฉมจึงถือว่าเป็นหนึ่งในสตรีที่สวยที่สุดในโลกในขณะนั้น ชาห์และพระราชินีเฟาซียะห์มีพระราชธิดาด้วยกัน 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงชาห์นาซ ปาห์ลาวี ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1940 แต่ความรักของทั้งสองกลับถึงทางตัน ภายหลังชาห์และพระราชินีเฟาซียะห์ได้ทรงหย่ากันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1945 ที่ประเทศอียิปต์ และในปี ค.ศ. 1948 ที่ประเทศอิหร่าน โดยทางสำนักพระราชวังให้เหตุผลว่า "ด้วยสภาวะอากาศของเปอร์เซียทำให้สุขภาพของราชินีเฟาซียะห์ทรุดโทรม ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับพระขนิษฐากษัตริย์อียิปต์ที่ต้องการจะหย่า" และชาห์ก็ออกมาประกาศว่า "ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ระหว่างอียิปต์กับอิหร่าน" หลังจากการหย่าสมเด็จพระราชินีเฟาซียะห์ได้กลับได้ไปใช้พระอิสริยยศ เจ้าหญิงแห่งอียิปต์และซูดาน ตามเดิม ภายหลังเจ้าหญิงได้เสกสมรสกับอิสมาอิล ฮุสเซน ชีรีน และมีพระโอรส-ธิดา 2 องค์
ชาห์ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับสตรีสามัญชน นามว่านางสาวโซรยา อัสฟานดียารี-บักติยารี ประสูติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1932 ณ โรงพยาบาลมิชชันนารีอังกฤษ เมืองอิสฟาฮาน เป็นธิดาของนายคาลิล อัสฟานดิยารี และนางอีวา คาร์ล โดยบิดาของเธอเป็นอดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศเยอรมันตะวันตก และเป็นชาวอิหร่านเชื้อสายเผ่าบักติยารี ส่วนมารดาเป็นชาวรัสเซียสัญชาติเยอรมัน โดยเธอเป็นญาติของซาดาร์ อาซาด ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในรัฐธรรมนูญอิหร่านแห่งศตวรรษที่ 20 โซรยาได้รู้จักกับชาห์ จากการแนะนำของนางฟารุฆ ซาฟาร์ บักติยารี ขณะที่โซรยายังศึกษาอยู่ในโรงเรียนฟินนิชิง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งคู่ได้ทำการหมั้นกัน โดยของหมั้นในงานนี้คือแหวนเพชร 22.37 กะรัต ชาห์และโซรยาได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 ณ พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace) กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งเดิมทั้งสองมีแผนที่จะจัดงานอภิเษกสมรสในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1950 แต่พิธีได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากโซรยาได้ล้มป่วยลง
แต่ด้วยโซรยาไม่สามารถทำหน้าที่ให้กำเนิดรัชทายาทได้ โดยชาห์ทรงตรัสเรื่องนี้เป็นนัย เธอพยายามรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ แต่ก็ตระหนักดีว่าเธอจะไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทได้ เธอจึงตัดสินใจหย่ากับชาห์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1958 และขณะนั้นชาห์ได้ให้ความสนพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับกับเจ้าหญิงมารีอา กาเบรียลลาแห่งซาวอย และพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 แห่งอิตาลี ซึ่งเรื่องราวของชาห์ที่พยายามจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิตาลีได้ถูกนำมาเรียกกันว่า "กษัตริย์มุสลิมกับเจ้าหญิงคาทอลิก" ส่วนหนังสือลอสเซวาตอเรโรมาโน (L'Osservatore Romano) ของสำนักวาติกันก็ได้เขียนอีกเช่นกันว่า "องุ่นพิษ" ส่วนสมเด็จพระราชินีโซรยาหลังจากการหย่า จึงได้รับพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงแห่งอิหร่าน และได้ผันตัวเป็นนักแสดงในยุโรประยะหนึ่ง ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2001
ชาห์ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สามกับสตรีสามัญชน นามว่านางสาวฟาราห์ ดีบา ประสูติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ณ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทาบริซ ประเทศอิหร่าน ธิดาของนายโซห์รับ ดีบา และนางฟารีเดห์ ฆอตไบ เธอมีเชื้อสายอเซอรี โดยบิดาของเธอเป็นคนพื้นเมืองอาเซอร์ไบจาน (อิหร่าน) ส่วนพระมารดานั้นมีพื้นเพมาจากจังหวัดกิลาน ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลแคสเปียน
เธอได้ไปศึกษาต่อ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยศึกษาทรงด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ปารีส ซึ่งทำให้เธอมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาห์เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่พระเจ้าชาห์เสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ฟาราห์ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับนักศึกษาชาวอิหร่านคนอื่นๆ ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1959 และต่อมาก็มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกหลายครั้งเมื่อเสด็จกลับอิหร่านในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ทั้งสองได้พัฒนาสัมพันธภาพ จนในที่สุดสำนักพระราชวังก็ประกาศหมั้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน และได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1959 และเธอเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่สามารถให้ประสูติกาลพระราชโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ได้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1960 และเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวของประวัติศาสตร์อิหร่านที่ได้มีการเฉลิมพระอภิไธยเป็น จักรพรรดินี หรือ ชาห์บานู (???????) องค์แรกและองค์เดียวของอิหร่านยุคปัจจุบัน และยังทรงสถาปนาให้เป็น "จักรพรรดินีนาถผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในกรณีที่พระองค์สวรรคตหรือไม่สามารถปกครองประเทศได้ก่อนที่มกุฎราชกุมารจะเจริญพระชันษาครบ 21 ชันษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศในตะวันออกกลาง ชาห์และฟาราห์มีพระราชโอรส-ธิดา 4 พระองค์ ได้แก่
หลังจากการปฏิวัติอิสลาม อดีตจักรพรรดินีฟาราห์ได้เสด็จลี้ภัยร่วมกับครอบครัว แต่ภายหลังการสวรรคตของพระสวามี อดีตจักรพรรดินีทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงพบกับพระสวามีครั้งแรก
หลังจากที่พระเจ้าชาห์ ได้อพยพลี้ภัยพำนักในต่างประเทศหลายประเทศ สุดท้ายพระองค์จึงเสด็จสวรรคตที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 โดยได้จัดงานพระศพของชาห์ให้อย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตพระเทวัน (น้องเขย) ของพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ โดยฝังไว้ในกรุงไคโร และในพระราชพิธีนี้มีชาวอิหร่านไปร่วมพิธีหลายแสนคน
ปัจจุบัน เจ้าชายเรซา ปาห์ลาวี มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ได้สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าชาห์อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อิหร่านในปัจจุบัน ปัจจุบันพระองค์ทรงประทับลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับพระภรรยาและพระราชธิดา